เมนู

อรรถกถากักการุชาดกที่ 6


พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ
พระเทวทัต จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า กาเยน โย
นาวหเร
ดังนี้.
ได้ยินว่า เมื่อพระเทวทัตนั้นทำลายสงฆ์ไปแล้วอย่างนั้น เมื่อ
บริษัทหลีกไปพร้อมกับพระอัครสาวก โลหิตร้อนได้พุ่งออกจากปาก.
ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายได้สนทนากันในโรงธรรมสภาว่า อาวุโส
ทั้งหลาย พระเทวทัตกล่าวมุสาวาททำลายสงฆ์ บัดนี้เป็นไข้เสวยทุกข-
เวทนามาก. พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้
พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ ? เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบ-
ทูลให้ทรงทราบว่า เรื่องชื่อนี้ พระเจ้าข้า. จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย
มิใช่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน พระเทวทัตนี้ก็ได้เป็นผู้พูดเท็จ
เหมือนกัน อนึ่ง พระเทวทัตนี้พูดมุสาวาททำลายสงฆ์ แล้วเป็นไข้ได้
เสวยทุกข์มาก ในบัดนี้เท่านั้นหามิได้ แม้ในกาลก่อนก็ได้เสวยทุกข์
มากแล้วเหมือนกัน จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนคร-
พาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นเทวบุตรองค์หนึ่งในภพดาวดึงส์. ก็
สมัยนั้นแล ในนครพาราณสี ได้มีมหรสพเป็นการใหญ่. พวกนาค
ครุฑ และภุมมัฏฐกเทวดา เป็นจำนวนมากพากันมาดูมหรสพ. เทว-

บุตร 4 องค์แม้จากภพดาวดึงส์ ก็ประดับเทริดอันกระทำด้วยดอกไม้
ทิพย์ชื่อกักการุ ผักจำพวกบวบ ฟัก แฟง พากันมายังที่ดูการมหรสพ.
พระนครประมาณ 12 โยชน์ ได้มีกลิ่นเดียวด้วยกลิ่นดอกไม้เหล่านั้น.
มนุษย์ทั้งหลายเที่ยวสอบสวนอยู่ว่า ใครประดับดอกไม้เหล่านี้. เทว-
บุตรเหล่านั้นรู้ว่า มนุษย์เหล่านี้สืบสวนหาพวกเรา จึงเหาะขึ้นที่
พระลานหลวงยืนอยู่ในอากาศด้วยเทวานุภาพอันยิ่งใหญ่. มหาชน
ประชุมกันอยู่. พระราชาก็ดี อิสรชนมีเศรษฐีและอุปราชเป็นต้นก็ดี
ต่างพากันมา. ทีนั้นจึงพากันถามเทวบุตรเหล่านั้นว่า ข้าแต่เจ้านาย
ท่านทั้งหลายมาจากเทวโลกชั้นไหน ? เทวบุตร มาจากเทวโลกชั้น
ดาวดึงส์. มนุษย์ พวกท่านมาด้วยกิจธุระอะไร ? เทวบุตร มาด้วย
ต้องการดูมหรสพ. มนุษย์ นี่ชื่อดอกอะไร ? เทวบุตร ชื่อดอก
ฟักทิพย์. มนุษย์ทั้งหลายกล่าวว่า ข้าแต่เจ้านาย ท่านทั้งหลายโปรด
ประดับดอกไม้อื่นในเทวโลกเถิด จงให้ดอกฟักทิพย์นี้แก่พวกเราเถิด.
เทวบุตรทั้งหลายกล่าวว่า ดอกไม้ทิพย์เหล่านี้มีอานุภาพมาก สมควร
แก่เทวดาทั้งหลายเท่านั้น ไม่สมควรแก่คนเลวทรามไร้ปัญญา มีอัธ-
ยาศัยน้อมไปในทางต่ำทราม ทุศีล ในมนุษยโลก แต่สมควรแก่
มนุษย์ทั้งหลายผู้ประกอบด้วยคุณเหล่านี้. ก็แหละ ครั้นกล่าวอย่างนี้
แล้ว เทพบุตรผู้ใหญ่ใน 4 องค์นั้น จึงกล่าวคาถาที่ 1 ว่า :-
ผู้ใดไม่ลักสิ่งของด้วยกาย ไม่พูดเท็จ
ด้วยวาจา ได้รับยศแล้วไม่พึงมัวเมา ผู้นั้น

แลย่อมควรประดับดอกฟักทิพย์.
คำที่เป็นคาถานั้นมีอธิบายว่า :- บุคคลใดไม่ลักแม้แต่เส้นหญ้า
อันเป็นของของคนอื่น และแม้จะเสียชีวิตก็ไม่กล่าวมุสาวาทด้วยวาจา.
คำนี้ เป็นเพียบหัวข้อเทศนาเท่านั้น. ในคำนี้มีอธิบายนี้ว่า ก็บุคคล
ใดไม่กระทำอกุศลกรรมบถทั้ง 10 ด้วยกายทวาร วจีทวาร และมโน-
ทวาร. บทว่า ยโส ลทฺธา ความว่า บุคคลใดได้แม้ความเป็นใหญ่
แล้ว ไม่มั่วเมาในความเป็นใหญ่ปล่อยให้สติกระทำกรรมอันลามก
บุคคลผู้ประกอบด้วยคุณเหล่านี้เห็นปานนั้นนั่นแล ย่อมควรซึ่งดอกไม้
ทิพย์นี้ เพราะฉะนั้น บุคคลใดประกอบด้วยคุณเหล่านี้. บุคคลนั้น
ย่อมควรขอดอกไม้เหล่านี้ พวกเราจักให้แก่บุคคลนั้น.
ปุโรหิตได้ฟังดังนั้นจึงคิดว่า เราไม่มีคุณเหล่านี้แม้แต่อย่างเดียว
แต่เราจักกล่าวมุสาวาทรับเอาดอกไม้เหล่านี้มาประดับ เมื่อเป็นอย่างนี้
มหาชนจักรู้เราว่า ผู้นี้สมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติ. ปุโรหิตนั้นจึงกล่าวว่า
เราเป็นผู้ประกอบด้วยคุณเหล่านี้ จึงให้นำดอกไม้เหล่านั้นนาประดับ
แล้วได้อ้อนวอนขอกะเทวบุตรองค์ที่ 2 เทวบุตรองค์ที่ 2 นั้น จึง
กล่าวคาถาที่ 2 ว่า :-
ผู้ใดแสวงหาทรัพย์มาได้โดยชอบธรรม
ไม่ล่อลวงเอาทรัพย์เขามา ได้โภคทรัพย์แล้ว
ไม่มัวเมา ผู้นั้นแลย่อมควรประดับดอกฟัก-
ทิพย์.

คำอันเป็นคาถานั้นมีอธิบายว่า :- บุคคลพึงแสวงหาทรัพย์มีทอง
และเงินเป็นต้น โดยธรรม คือ โดยอาชีพอันบริสุทธิ์ ไม่พึงแสวงหา
โดยการหลอกลวง คือไม่พึงนำเอาไปโดยการลวง ได้โภคะทั้งหลาย
มีผ้าและอาภรณ์เป็นต้น ไม่พึงมัวเมาประมาท บุคคลเห็นปานนี้ย่อม
ควรแก่ดอกไม้เหล่านี้.
ปุโรหิตกล่าวว่า เราเป็นผู้ประกอบด้วยคุณเหล่านี้ แล้วให้นำ
ดอกไม้ทิพย์มาประดับ จึงอ้อนวอนขอกะเทวบุตรองค์ที่ 3. เทวบุตร
องค์ที่ 3 นั้น จึงกล่าวคาถาที่ 3 ว่า
ผู้ใดมีจิตไม่จืดจางเร็ว และมีศรัทธาไม่
คลายง่าย ๆ ไม่บริโภคของดีแต่ผู้เดียว ผู้นั้น
แลย่อมควรแก่ดอกฟักทิพย์.

คำอันเป็นคาถานั้นมีอธิบายว่า :- บุคคลใดมีจิตไม่จืดจาง คือไม่
จางหายไปเร็วเหมือนย้อมด้วยขมิ้น ได้แก่มีความรักมั่นคง และมี
ศรัทธาไม่คืนคลาย คือ ได้ฟังคำของคนผู้เชื่อกรรมหรือวิบากของกรรม
ก็ตามแล้วเชื่อ ไม่คืนคลาย ไม่แตกทำลายด้วยเหตุเพียงเล็กน้อย.
บุคคลใดไม่กันยาจกหรือ บุคคลอื่นผู้ควรแก่การจำแนกให้ไว้ภายนอก
ไม่บริโภคโภชนะมีรสดีแต่ผู้เดียว คือจำแนกให้แก่ชนเหล่านั้นแล้ว
จึงบริโภค บุคคลนั้นย่อมควรซึ่งดอกไม้เหล่านี้.
ปุโรหิตกล่าวว่า เราเป็นผู้ประกอบด้วยคุณเหล่านี้ จึงให้นำ

ดอกไม้เหล่านั้นมาประดับ แล้วอ้อนวอนขอกะเทวบุตรองค์ที่ 4. เทว-
บุตรองค์ที่ 4 นั้น จึงกล่าวคาถาที่ 4 ว่า
ผู้ใดไม่บริภาษสัตบุรุษทั้งต่อหน้าหรือ
ลับหลัง พูดอย่างใด ทำอย่างนั้น ผู้นั้นแล
ย่อมควรซึ่งดอกฟักทิพย์.

คำอันเป็นคาถานั้นมีอธิบายว่า บุคคลใดไม่ด่า ไม่บริภาษ
สัตบุรุษ คือบุรุษผู้เป็นอุดมบัณฑิต ผู้ประกอบด้วยคุณมีศีลเป็นต้น
ทั้งต่อหน้าหรือลับหลัง พูดถึงสิ่งใดด้วยวาจา ย่อมกระทำสิ่งนั้นแล
ด้วยกาย บุคคลนั้นย่อมควรซึ่งดอกไม้เหล่านี้.
ปุโรหิตกล่าวว่า เราเป็นผู้ประกอบด้วยคุณเหล่านี้ แล้วให้นำ
ดอกไม้แม้เหล่านั้นมาประดับ. เทวบุตรทั้ง 4 องค์ได้ให้เทริดดอกไม้
ทั้ง 4 เทริดแก่ปุโรหิตกลัวพากันกลับไปยังเทวโลก. ในเวลาที่เทว-
บุตรเหล่านั้นไปแล้ว เวทนาอันยิ่งใหญ่เกิดขึ้นที่ศีรษะของปุโรหิต.
ศีรษะได้เป็นเหมือนถูกทิ่มด้วยยอดเขาอันแหลมคม และเป็นเหมือน
ถูกบีบรัดด้วยแผ่นเหล็กฉะนั้น. ปุโรหิตนั้นได้รับทุกขเวทนา กลิ้งไป
กลิ้งมาร้องเสียงดังลั่น และเมื่อมหาชนกล่าวว่านี่อะไรกัน จึงกล่าวว่า
เรากล่าวมุสาวาทในคุณซึ่งไม่มีอยู่ภายในเราเลยว่ามีอยู่. แล้วขอ
ดอกไม้เหล่านี้ กะเทวบุตรเหล่านั้น ท่านทั้งหลายจงช่วยนำเอาดอกไม้
เหล่านี้ออกจากศีรษะของเราด้วยเถิด. ชนทั้งหลายถึงจะช่วยกันปลด

ดอกไม้เหล่านั้น ก็ไม่สามารถจะปลดออกได้ ได้เป็นเหมือนดอกไม้
ที่ผูกรัดด้วยแผ่นเหล็ก. ลำดับนั้น ชนทั้งหลายจึงหามปุโรหิตนั้นนำ
ไปเรือน. เมื่อปุโรหิตนั้นร้องอยู่ในเรือนนั้น กาลเวลาล่วงไปได้ 7
วัน. พระราชารับสั่งเรียกอำมาตย์ทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า พราหมณ์ผู้
ทุศีลจักตาย เราจะทำอย่างไรกัน. อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่
สมมติเทพ ขอพระองค์โปรดให้เล่นมหรสพอีกเถิด เทวบุตรทั้งหลาย
จักมาอีก. พระราชาจึงให้เล่นมหรสพอีก เทวบุตรทั้งหลายจึงมาอีก
ได้กระทำพระนครทั้งสิ้นให้มีกลิ่นหอมเป็นอันเดียวกันด้วยกลิ่นหอม
ของดอกไม้ แล้วได้ยืนอยู่ที่พระลานหลวงเหมือนอย่างเคยมา. มหา-
ชนประชุมกันแล้ว นำพราหมณ์ผู้ที่ศีลมา ให้นอนหงายอยู่ข้างหน้า
ของเทวบุตรเหล่านั้น. พราหมณ์ปุโรหิตนั้นอ้อนวอนเทวบุตรทั้งหลาย
ว่า ข้าแต่นาย ขอท่านทั้งหลายจงให้ชีวิตแก่ข้าพเจ้าเถิด. เทวบุตร
เหล่านั้นติเตียนพราหมณ์ปุโรหิตนั้นในท่ามกลางมหาชนว่า ดอกไม้
เหล่านี้ไม่สมควรแก่ท่านผู้ลามกทุศีลมีบาปธรรม ท่านไม่สำคัญว่า
จักลวงเทวบุตรเหล่านี้ น่าอนาถ ท่านได้รับผลแห่งมุสาวาทของตน
แล้ว ครั้นติเตียนแล้วจึงปลดเทริดดอกไม้ออกจากศีรษะ ให้โอวาท
แก่มหาชนแล้วได้ไปยังสถานที่ของตนทันที.
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรง
ประชุมชาดกว่า พราหมณ์ในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระเทวทัต บรรดา

เทวบุตรเหล่านั้น องค์หนึ่งได้เป็นพระกัสสป องค์หนึ่งได้เป็นพระ-
โมคคัลลานะ องค์หนึ่งได้เป็นพระสารีบุตร ส่วนเทวบุตรผู้เป็นหัวหน้า
ได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถากักกรุชาดกที่ 6

7. กากาติชาดก


ว่าด้วยนางกากี


[606] หญิงคนรักของเราอยู่ ณ ที่แห่งใด กลิ่น
ของนางยังหอมฟุ้งมาจากที่แห่งนั้น ใจของ
เรายินดีในนางคนใด นางคนนั้นชื่อกากาติ
อยู่ไกลจากที่นี้ไป.
[607] ท่านข้ามทะเลไปได้อย่างไร ท่านข้าม
แม่น้ำชื่อเกปุกะไปได้อย่างไร ท่านข้าม
สมุทรทั้ง 7 ไปได้อย่างไร ท่านขึ้นต้นงิ้วได้
อย่างไร.
[608 ] เราข้ามทะเลไปได้เพราะท่าน ข้าม
แม่น้ำชื่อเกปุกะไปได้เพราะท่าน ข้ามสมุทร
ทั้ง 7 ไปได้เพราะท่าน ขึ้นต้นงิ้วได้เพราะ
ท่าน.
[609] น่าติเตียนตัวเราผู้มีกายใหญ่โต น่า
ติเตียนตัวเราผู้ไม่มีความคิด เพราะว่าเราต้อง
นำมาบ้าง ซึ่งชู้ของเมียตนเอง.

จบ กากาติชาดกที่ 7